Monday, December 22, 2008

วิจัย เรื่องการศึกษาความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือ

วิจัย
ศึกษาความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือ
บทที่ 1
บทนำ
ภูมิหลัง
การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาและเสริมสร้างคุณภาพของคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาความรู้และคุณธรรมมีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อืนได้อย่างมีความสุข และการที่บุคคลจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะการฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถทั้งในด้านความรู้และทักษะต่าง ๆ รวมไปถึงการมีบุคลิกภาพความคิดความเชื่อถือที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และเนื่องจากสังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวหรือการพัฒนาบุคลิกภาพให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง (อุลัย บุญโท. 2544 : บทนำ) ดังที่คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ (2543 : 15 – 16) กล่าวว่าช่วงอายุปฐมวัยช่วงวัยที่สำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการของชีวิต ประสบการณ์และการเรียนรู้ที่เด็กได้รับในช่วง 6 ปีแรกของชีวิตจะมีผลต่อการวางรากฐานที่สำคัญต่อบุคลิกภาพของเด็กเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อีริคสัน (Erikson. 1975 : 220 – 222 ; อ้างอิงใน อุลัย บุญโท. 2544 : บทนำ) ได้กล่าวถึงการเสริมสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของเด็กที่ควรตระหนักว่าถ้าเด็กมีโอกาสทำสิ่งต่าง ๆ และได้รับการยอมรับ ผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็กได้ซักถามปัญหาเปิดโอกาสให้เด็กลองทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองย่อมเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กได้ ตรงกันข้ามถ้าผู้ใหญ่ไปสกัดกั้นความอยากรู้ของเด็ก ก็จะเป็นการสกัดกั้นความเชื่อมั่นตนเองของเด็กด้วย
ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นคุณลักษณะที่เด็กควรได้รับการส่งเสริมเพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาบุคลิกภาพที่จะส่งผลให้เด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจและมีความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จตามที่ต้องการ กล้ากระทำ กล้าเผชิญเหตุการณ์ รวมทั้งสามารถจัดการกับปัญหาในชีวิต (ศรีสุดา คัมภีร์ภัทร. 2543 : 15) ความเชื่อมั่นในตนเองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบุคคล เพราะเป็นตัวชี้นำความสำเร็จในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามแผนการที่ได้วางไว้ เพราะบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะมีความกล้าในการคิดและการกระทำ ไม่รู้สึกว่าตนเองด้อยค่า ซึ่งทำให้บุคคลสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตรงข้ามกับผู้ที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเองจะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนร่วม ดังนั้น ความเชื่อมั่นในตนเองจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่เราจำเป็นต้องปลูกฝัง และพัฒนาให้เกิดขึ้นในเด็กปฐมวัย ผู้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมต่อไป (อุลัย บุญโท. 2544 : 7)
การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็ก ครูควรเป็นแบบอย่างที่ดีและสนับสนุนพฤติกรรมที่ดีของเด็ก ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ อย่างอิสระ ดังนั้นประสบการณ์ที่จัดควรเปิดกว้างให้เด็กทำกิจกรรมอย่างมีความสุขสนุกสนาน ต้องคำนึงถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก การส่งเสริมการกระตุ้นให้กำลังใจให้เด็กได้ใช้ความสามารถของตนในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่ตนพอใจอย่างเต็มที่จะสามารถช่วยพัฒนาความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของเด็กได้เป็นอย่างดี (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2543 : 23 – 33) ดังนั้นการจัดสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กปฐมวัย
การเล่านิทานเป็นกิจกรรมจำเป็นสำหรับเด็กที่ง่ายและเหมาะกับทุกโอกาส และทุกสถานการณ์ เด็กสามารถเรียนรู้ได้ทุกเรื่องจากนิทาน ธรรมชาติของเด็กชอบฟังนิทานหรือเรื่องเล่าไม่ว่าจะเป็นเด็กในระดับอนุบาลหรือประถมศึกษา เหตุผลคือการฟังนิทานทำให้เด็กมีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และนิทานยังช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะการฟัง การพูด การกล้าแสดงออก (กัลยา นิ่มจิตต์. 2545 : บทนำ) และนิทานจะสร้างสรรค์นิสัยรักการอ่าน การเห็นความสำคัญของหนังสือไปพร้อมกัน การเล่านิทานให้เด็กฟังเสมอ ๆ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการที่ดีตามวัยของเด็ก ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาและภาษา โดยเฉพาะพัฒนาการด้านสังคม ในเรื่องของความมีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งสามารถปลูกฝังผ่านการเล่านิทานจนเกิดความผูกพัน และมีเจตคติที่ดีในด้านต่าง ๆ ติดตัวไปจนโต (สัณหพัฒน์ อรุณธารี. 2542 : 2 – 3) เนื้อเรื่องของนิทานที่นำมาเล่าต้องเหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก เมื่อเด็กฟังนิทานจะทำให้เกิดการเรียนรู้ การเล่านิทานให้เด็กต้องสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมอันดีงาม การเล่านิทานเป็นการสร้างสัมพันธ์ความใกล้ชิดผูกพันระหว่างผู้เล่ากับเด็กทำให้ผู้เล่าเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ขณะที่เล่าเด็กจะคิดจินตนาการ เข้าใจซึมซับ รับรู้แยกแยะในสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
จะเห็นได้ว่าการเล่านิทานมีความสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินตามต้องการและตามความสนใจของเด็กซึ่งรูปแบบและเทคนิควิธีการของนิทานก็มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป เช่น การเล่านิทานแบบปากเปล่า การเล่านิทานแบบวาดไปเล่าไป การเล่านิทานแบบใช้สื่ออุปกรณ์ ดังที่ พจมาน เทียนมนัส (2539 : 58) ได้ทำการศึกษาเรื่องความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่านิทานประกอบการแสดงละครสร้างสรรค์และประกอบการวาดภาพ พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่านิทานประกอบละครสร้างสรรค์และประกอบการวาดภาพ มีความเชื่อมั่นในตนเองแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 นอกจากนี้ จิราพร ปั้นทอง ( 2550 : 87) ได้ทำการศึกษาเรื่องความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่านิทานประกอบการเชิดหุ่นมือ พบว่า เด็กปฐมวัยก่อนจัดประสบการณ์และช่วงเวลาการจัดประสบการณ์การเล่านิทานประกอบการเชิดหุ่นมือในแต่ละช่วงสัปดาห์มีความเชื่อมั่นในตนเอง โดยเฉลี่ยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
และจากที่ได้ศึกษางานวิจัยมายังไม่พบว่ามีการทำวิจัยเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเล่านิทานวาดไปเล่าไปแบบร่วมมือจากสภาพปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะจัดประสบการณ์โดยการใช้นิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือ โดยมีรูปแบบในการจัดกิจกรรมโดยให้เด็กได้ทำงานร่วมกันและเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำงานเป็นกลุ่ม มีการสนทนาซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในกลุ่มการเล่านิทานแบบวาดไปเล่าไปเป็นการเล่านิทานที่ผู้เล่าจะต้องมีประสบการณ์การเล่านิทานแบบปากเปล่าพอสมควร และต้องใช้ศิลปะการเล่าอย่างมีชั้นเชิงมีการเล่าอย่างเดิมแต่จะต้องเพิ่มการวาดรูปในขณะเล่าเรื่องราวภาพที่วาดออกมาอาจจะสอดคล้องกับเรื่องราวหรือบางครั้งเมื่อเล่าเรื่องจบ รูปที่วาดจะไม่สอดคล้องกับเรื่องที่เล่าเลยก็ได้ คือจะได้ภาพใหม่เกิดขึ้น (พรทิพย์ วินโกมินทร์. 2545 : 45) การจัดกิจกรรมการเล่านิทานเป็นการส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กได้เติบโตเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

จุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
เพื่อศึกษาความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือ

ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า
การศึกษาครั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางให้ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยได้ตระหนักถึงการจัดกิจกรรมการเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือเพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย

ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
1. ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชาย – หญิง อายุระหว่าง 5 – 6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2 ห้อง จำนวน 68 คน



2. กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชาย – หญิง อายุระหว่าง 5 – 6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 1 ห้อง จำนวน 34 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling)

3. ตัวแปรที่ศึกษา
3.1 ตัวแปรต้น คือ การจัดกิจกรรมการเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือ
3.2 ตัวแปรตาม คือ ความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กนักเรียนชาย – หญิง อายุระหว่าง 5 – 6 ปี ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์
ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 15 คน
2. ความเชื่อมั่นในตนเอง หมายถึง ความสามารถในการแสดงออกของเด็กด้วยความมั่นใจ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากท่าทาง การกระทำ การแสดงออกความคิดเห็น หรือภาษาของเด็ก โดยผู้วิจัยได้แบ่งความเชื่อมั่นในตนเองออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
2.1 การกล้าแสดงออกเป็นตัวของตัวเอง ได้แก่
2.1.1 พูดด้วยถ้อยคำเสียงดัง ฟังชัด
2.1.2 ยกมืออยากร่วมกิจกรรม
2.1.3 พูดแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผล
2.1.4 กระตือรือร้นอยากร่วมกิจกรรม
2.1.5 สบตาผู้สนทนาในขณะพูด
2.2 การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ได้แก่
2.2.1 บอกความต้องการของตนเองให้ผู้อื่นทราบได้
2.2.2 ทำตามข้อตกลงของครูและสมาชิกในกลุ่ม
2.2.3 ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนได้
2.2.4 ให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือเพื่อน
2.2.5 ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
2.3 ความภูมิใจในตนเอง ได้แก่
2.3.1 ตัดสินใจทำกิจกรรมด้วยตนเอง
2.3.2 สนใจในกิจกรรม
2.3.3 ยอมรับในความสามารถของตน
2.3.4 ตั้งใจทำสิ่งต่าง ๆ
2.3.5 ความสนุกสนานในการทำกิจกรรม
ความเชื่อมั่นในตนเองนี้สามารถวัดได้โดยใช้แบบทดสอบความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
3. การเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือ หมายถึง กิจกรรมการเล่านิทานที่ครูเป็นผู้เล่านิทานแล้วให้เด็กวาดภาพโดยแบ่งเนื้อหาของนิทานแต่ละเรื่องออกเป็น 3 ตอน ในแต่ละตอนเด็กร่วมกันวางแผน แสดงความคิดเห็นและร่วมมือกันวาด หลังจากที่ฟังนิทานที่ครูเล่าให้ฟังจบ


สมมติฐานในการวิจัย
เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือมีความมั่นใจในตนเองก่อนกับหลังการทดลองแตกต่างกัน

บทที่ 2
เอกสารและงานที่เกี่ยวข้อง
การวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องตามหัวข้อดังต่อไปนี้
1. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในตนเอง
1.1 ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย
- ทฤษฎีพัฒนาการของอิริคสัน
- ทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์
1.2 ความหมายของความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย
1.3 ความสำคัญของความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย
1.4 ลักษณะของเด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย
1.5 ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย
1.6 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย
2. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนิทานและการเล่านิทาน
2.1 ความหมายของนิทาน
2.2 คุณค่าของนิทาน
2.3 ประเภทของนิทาน
2.4 เกณฑ์การเลือกหนังสือนิทานสำหรับเด็ก
2.5 รูปแบบการเล่านิทาน
2.6 วิธีการเล่านิทาน
2.7 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนิทาน
3. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมความร่วมมือ
3.1 ความหมายของพฤติกรรมความร่วมมือ
3.2 ลักษณะของพฤติกรรมความร่วมมือ
3.3 แนวทางการส่งเสริมพฤติกรรมความร่วมมือ
3.4 ลักษณะของกิจกรรมที่ส่งเสริมพฤติกรรมความร่วมมือ
3.5 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมความร่วมมือ

1. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในตนเอง
1.1 ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในตนเอง ทฤษฎีพัฒนาการของอิริคสัน
อิริคสัน (สุรางค์ โค้วตระกูล. 2541 : 40 – 44 ; อ้างอิงจาก Erikson. N.d.) ได้สร้างทฤษฎีขึ้นมาในแนวทางความคิดที่เน้นความสำคัญของทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมด้านจิตใจ (Psychological Environment) ว่ามีบทบาทในการพัฒนาบุคลิกภาพมาก อิริคสัน เป็น
Neo – Freudian ได้เรียกทฤษฎีของเขาว่าเป็นทฤษฎีจิตสังคม (Psychosocial Theory) ซึ่งได้แบ่งพัฒนาการทางบุคลิกภาพออกเป็น 8 ขั้น แต่สำหรับเด็กปฐมวัยมีเพียง 4 ขั้น จึงขอกล่าวเฉพาะ 4 ขั้น ดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1 ความไว้วางใจ – ความไม่ไว้วางใจ (Trust vs Mistrust) ซึ่งเป็นขั้นในวัยทารก
อิริคสันถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของพัฒนาการในวัยต่อไป เด็กทารกจำเป็นจะต้องมีผู้เลี้ยงดูเพราะช่วยตนเองไม่ได้ ผู้เลี้ยงดูจะต้องเอาใจใส่เด็ก ถึงเวลาให้นมก็ควรจะให้และปลดเปลื้องความเดือดร้อน ไม่สบายของทารกอันเนื่องมาจากการขับถ่าย เป็นต้น ผู้เลี้ยงดูจะต้องสนองความต้องการของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพราะเด็กมีความหวังว่าเวลาหิวมักจะมีคนมาให้นม เวลาที่ผ้าอ้อมเปียกจะมีคนเปลี่ยนให้ เด็กจะอยู่ด้วยความหวังว่า พ่อแม่ คนเลี้ยง จะมาช่วยสนองความต้องการของตนแล้ว เด็กยังเชื่อในตนเองว่ามีความสามารถที่จะใช้อวัยวะของตนเองช่วยตนเอง เป็นต้นว่า สามารถจะหาหัวนมและคว้ามาดูดได้ อิริคสันได้กล่าวว่า ความไว้วางใจเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ เด็กที่ขาดความไว้วางใจจะกลายเป็นคนที่ก้าวร้าว ตีตัวออกจากสิ่งแวดล้อม บางกรณีถึงกับเป็นโรคจิต
ขั้นที่ 2 ความเป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ – ความสงสัยไม่แน่ใจตัวเอง (Autonomous vs Shame and Doubt) อยู่ในวัยอายุ 2 – 3 ปี วัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเดินได้ สามารถที่จะพูดได้และความเจริญเติบโตของร่างกายช่วยให้เด็กมีความอิสระ พึ่งตนเองได้และมีความอยากรู้ อยากเห็น อยากจับต้องสิ่งของต่าง ๆ เพื่อต้องการสำรวจว่าคืออะไร เด็กเริ่มที่อยากเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ฉะนั้นเด็กวัยนี้จะต้องเรียนรู้พฤติกรรมหลายอย่างที่กำหนดโดยสังคม ฉะนั้นพ่อแม่ และผู้เลี้ยงดู จำเป็นจะต้องรักษาความสมดุล ช่วยเด็กให้เป็นอิสระ โดยต้องเป็นผู้ที่รู้จักใช้คำพูดอธิบายให้เด็กเข้าใจ ว่าสิ่งไหนทำได้สิ่งไหนทำไม่ได้ พยายามเลี่ยงการดุเด็กเวลาที่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่บางครั้งจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กมีความอาย ( Shame) และการสงสัยตัวเองว่าทำไม่ถูก (Doubt) เพราะเป็นสิ่งสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา เพราะทุกคนควรจะต้องมีความละอายใจ ไม่กล้าทำสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับด้วย อย่างไรก็ตามพ่อแม่ ควรเน้นที่การให้โอกาสเด็กพึ่งตนเอง มีความเป็นอิสระทำอะไรด้วยตนเอง มากกว่าการมีความรู้สึกอายและสงสัยในตนเอง
ขั้นที่ 3 การเป็นผู้คิดริเริ่ม – การรู้สึกผิด (Initiative vs Guilt) วัยเด็กอายุประมาณ 3 – 5 ปี อิริคสันเรียกวัยนี้ว้าเป็นวัยที่เด็กมีความคิดริเริ่มอยากทำอะไรด้วยตนเอง จากจินตนาการของตนเอง การเล่นสำคัญมากสำหรับวัยนี้ เพราะเด็กจะได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ จะสนุก จากการสมมติของต่าง ๆ เป็นของจริง เช่น อาจจะใช้ลังกระดาษเป็นรถยนต์ ขับรถยนต์เหมือนผู้ใหญ่อย่างไรก็ตาม เด็กยังพยายามที่จะเป็นอิสระพึ่งตนเอง อยากจะทำอะไรเองไม่พึ่งผู้ใหญ่ เป็นวัยที่เด็กจะเลียนแบบจากผู้ใหญ่ ทั้งด้านการพูดและการกระทำ อิริคสันอธิบายการรู้สึกผิด (Guilt) เหมือนกับฟรอยด์ คือเน้น Resolution และ Oedipal Complex ดังที่ได้อธิบายมากแล้ว ดังนั้นเด็กชายในวัยนี้ต้องการทำอะไรเหมือนพ่อ เด็กหญิงอยากจะทำอะไรเหมือนแม่ เด็กบางคนอาจจะทำงานช้า เสร็จช้าแต่เมื่อเสร็จแล้วก็เป็นสิ่งที่สมบูรณ์เรียบร้อยและถูกต้อง เด็กบางคนอาจจะเรียนไม่เก่ง แต่เล่นกีฬาเก่ง เป็นต้น การช่วยเหลือแบบนี้ก็จะช่วยทำให้เด็กไม่มีปมด้อย และมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ไม่เกลียดตนเอง และไม่มีปมด้อย
ขั้นที่ 4 ความต้องการที่จะทำกิจกรรมอยู่เสมอ – ความรู้สึกด้อย (Industry vs Inferiority) อิริคสันใช้คำว่า Industry กับเด็กอายุประมาณ 6 – 12 ปี เนื่องจากเด็กวัยนี้ มีพัฒนาการด้านสติปัญญาและทางด้านร่างกาย อยู่ในขั้นที่มีความต้องการที่จะทำอะไรอยู่เสมอไม่เคยว่า หรืออยู่เฉย ๆ แม้ว่าเด็กที่เจริญเติบโตในวัฒนธรรมที่ไม่มีการศึกษาในโรงเรียนทั่วโลกก็พบว่า เด็กวัยนี้เป็นวัยที่จะเริ่มฝึกหัดอาชีพ สำหรับสังคมที่มีการศึกษาในโรงเรียน เด็กก็จะอยู่ในพยายามอย่างมาก ผู้ใหญ่จะต้องพยายามช่วยให้เด็กได้รับสัมฤทธิผล ให้เขารู้ว่าจะต้องมีประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้เขาคิดว่าคนเราเก่งมีความสามารถทำอะไรก็ทำได้เพื่อจะไม่ให้เกิดปมด้อย มีส่วนช่วยให้เด็กที่โชคไม่ดี ที่ทำงานช้า สู้คนอื่นไม่ได้ โดยพยายามหาสิ่งที่เด็กคนนั้นทำได้ดีกว่าคนอื่น และนอกจากนี้ให้เขาเห็นความสามารถพิเศษของเขา
ทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’ s Theory of Need Gratification)
แนวคิดของมาสโลว์เห็นว่า มนุษย์ทุกคนล้วนแต่มีความต้องการที่จะสนองความต้องการให้กับตนเองทั้งสิ้น มาสโลว์จึงได้จัดความต้องการของมนุษย์เป็นลำดับขั้นโดยเริ่มจากความต้องการขั้นที่ต่ำสุด ขึ้นไปหาความต้องการขั้นที่สูงสุด ดังนี้
1. ความต้องการทางด้านร่างกาย เป็นความต้องการที่ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ซึ่งได้แก่ ความต้องการอาหาร น้ำ อากาศ การหลับนอน การขับถ่าย ฯลฯ ถ้าความต้องการขั้น
ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วขาดหมดทุกอย่าง ตั้งแต่อาหาร ความปลอดภัย ความรัก การตระหนักความสามารถของตนเอง สิ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนแสดงพฤติกรรมมากที่สุด คือ ความต้องการอาหาร ตราบใดที่เรายังมีความหิว ตราบนั้นเราจะไม่มีความต้องการในเรื่องอื่น เช่น คนที่กำลังมีความหิวจะทำได้แม้แต่การฉกชิงวิ่งราว ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ทำแล้วถ้าตำรวจจับได้จะมีอะไรเกิดขึ้นหรือการที่เด็กในห้องเรียนเกิดความหิวย่อมไม่มีจิตใจที่จะมาให้ความสนใจกับบทเรียนของครู แม้ว่าครูผู้นั้นจะได้เตรียมการสอนมาอย่างดีแล้วก็ตาม
2. ความต้องการความปลอดภัย ถ้าความต้องการทางด้านร่างกายได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ มนุษย์ก็จะมีความต้องการในเรื่องอื่นต่อไปอีก คือ ความต้องการความปลอดภัย ซึ่งได้แก่ ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ความเป็นปึกแผ่น ความต้องการการคุ้มครองปกป้อง ความรู้สึกที่ปลอดจากการคุกคาม ปลอดภัยจากความวิตกกังวล ความต้องการที่จะอยู่ในระเบียบ ความต้องการกฎหมายคุ้มครอง ตลอดจนต้องการความแข่งขันของผู้คุ้นกัน
3. ความต้องการความรักและเป็นเจ้าของ ถ้าความต้องการทั้งทางด้านร่างกายและความปลอดภัยได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ คนก็จะมีความต้องการในเรื่องความรักและความเป็นเจ้าของขึ้นมาอีก คนทุกคนต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ตนเองจะต้องเกี่ยวข้องด้วย ไม่มีใครทนได้ถ้ารู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม มนุษย์ทุกคนอยากได้ความรักจากคนอื่น และในขณะเดียวกันก็อยากให้ตนเป็นที่รักและเป็นของใครสักคน
4. ความต้องจะเป็นที่ยอมรับ และได้รับการยกย่องเป็นความต้องการที่จะรู้สึกว่าตนเองมีค่าทั้งในสายตาตนเองและในสายตาของผู้อื่น คนที่ยอมรับนับถือในตนเอง มองเห็นคุณค่าและความสามารถในตนเองนั้น มี 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นคนที่มองเห็นคุณค่าในตนเองและมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย คนประเภทนี้จะเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ให้ความร่วมมือและเป็นมิตร จะเป็นคนที่มีลักษณะยอมรับผู้อื่น เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวผู้อื่น เช่นเดียวกับที่มีต่อตนเอง ดังนั้นจึงเป็นผู้ที่สร้างสัมพันธภาพได้ดี เพราะไม่มีลักษณะข่มขู่ ลักษณะที่สองเป็นคนที่มองเห็นคุณค่าในตนอง แต่มีความรู้สึกไม่ใคร่มั่งคงปลอดภัย ดังนั้นจะเป็นคนที่มีลักษณะค่อนข้างมั่นใจในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเองฝ่ายเดียว โดยที่ไม่ใคร่ยอมรับ หรือเห็นคุณค่าในตัวผู้อื่นเป็นคนที่สร้างสัมพันธภาพได้น้อยกว่าพวกแรก
5. ความต้องการที่จะตระหนักในความสามารถของตนเองหรือรู้จักตนเองเมื่อความต้องการต่าง ๆ ดังกล่าวทั้ง 4 ขั้นได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ มนุษย์จะมีความต้องการที่จะรู้จักตนเองตรงตามสภาพที่ตนเองเป็นอยู่ เข้าใจถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัด และความต้องการของตนเอง โดยไม่มีการปกป้องและบิดเบือน พร้อมที่จะเปิดเผยตนเอง พิจารณาตนเองอย่างใจเป็นธรรม ยอมรับได้ทั้งในส่วนที่เป็นข้อบกพร่องของตนเอง เป็นความต้องที่คนแต่ละคนต้องการที่จะเป็นคนที่เราเป็นไปได้ดีที่สุด (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2522 : 32 – 33 ; อ้างอิงจาก Maslow. N.d.)
จากทฤษฎีจะเห็นได้ว่าพัฒนาการในช่วง 0 – 6 ปี มีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ การที่เด็กได้รับการส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองจะทำให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ดีต่อไปและเด็กจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง
1.2 ความหมายของความเชื่อมันในตนเอง
ได้มีผู้ให้ความหมายของความเชื่อมั่นในตนเองไว้หลายทัศนะ กล่าวคือ
กรมวิชาการ (2537 : 1) ได้ให้ความหมายไว้ว่า ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยให้คนเราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ ช่วยให้คนเรามีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิดกล้าแสดงออก ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความมั่นใจ ยอมรับผลที่เกิดขึ้นด้วยความพอใจและภาคภูมิใจสามารถเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ และแก้ปัญหาด้วยความรู้สึกที่มั่นคง อันเป็นคุณลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพจิตดี มีความสุขในการดำรงชีวิต
ศรีสุดา คัมภีร์ภัทร (2543 : 15) ความเชื่อมั่นในตนเอง หมายถึง การกล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ และมีความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ตามที่ต้องการ กล้ากระทำ กล้าตัดสินใจ กล้าเผชิญเหตุการณ์ รวมทั้งจัดการกับปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งความมั่นใจในตนเองนั้นสามารถสร้างได้โดยการจัดบรรยากาศให้เด็กได้พัฒนาอย่างอิสระและอบอุ่นใจ
วารุณี เจริญรัตนโชติ (2543 : 18) ความเชื่อมั่นใจตนเอง หมายถึง บุคลิกภาพส่วนหนึ่งของบุคคลในการกล้าคิดกล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ และมีความมั่นใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ยอมรับผลที่เกิดขึ้นด้วยความพอใจและภาคภูมิใจ
เมทินี ด่านยังอยู่ (2544 : 9) ความเชื่อมั่นในตนเอง หมายถึง ความสามารถในการแสดงออกของเด็กด้วยความมั่นใจ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากท่าทาง การกระทำ การแสดงความคิดเห็น หรือภาษาของเด็กและใช้ชีวิตร่วมกับสังคมได้อย่างเหมาะสมซึ่งความเชื่อมันในตนเองนั้นจะเกิดขึ้นเองด้วยการสร้างบรรยากาศให้เด็กได้พัฒนาอย่างอิสระและอบอุ่นใจ
อุลัย บุญโท (2544 : 7) ความเชื่อมั่นในตนเอง หมายถึง บุคลิกภาพส่วนหนึ่งของบุคคลที่กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้ลุล่วง รวมทั้งการยอมรับและภาคภูมิใจในตนเองว่ามีความสามารถ มีความสำคัญ วสามารถเผชิญกับเกตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตด้วยความสุขุมรอบคอบ
จากเอกสารดังกล่าว สรุปได้ว่า ความเชื่อมั่นในตนเอง หมายถึง ความสามารถของการกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเอง และมองเห็นคุณค่าความสามารถของตนเองและของผู้อื่น และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ทุกสถานการณ์
1.3 ความสำคัญของความเชื่อมั่นในตนเอง
ได้มีผู้ให้ความสำคัญของความเชื่อมั่นในตนเองไว้หลายทัศนะ กล่าวคือ
เมทินี ด่านยังอยู่ (2544 : 10) กล่าวว่า ความเชื่อมั่นในตนเองมีความสำคัญคือ การที่เด็กได้รับความสำเร็จจากการปฏิบัติกิจกรรมหรือการกระทำสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ บุคคลยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่าไร ย่อมทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้นเท่านั้น เมื่อบุคคลมีความเชื่อมั่นในตนเองเขาจะรู้สึกว่าตนเองไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้อื่น ทำให้ความยุ่งยากใจต่าง ๆ ลดลงไป หรือหมดไปอันเป็นผลให้มีความสามารถที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น สามารถรับฟังความคิดเห็นหรือค่านิยมของผู้อื่นได้ด้วย ผู้ที่มีความเชื่อมั่นจึงมีลักษณะของบุคคลที่ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์
อุลัย บุญโท (2544 : 7) กล่าวว่า ความเชื่อมั่นในตนเองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบุคคล เพราะเป็นตัวชี้นำความสำเร็จในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามแผนการที่ได้วางไว้ เพราะบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะมีความกล้าในการคิดและการกระทำ ไม่รู้สึกว่าตนเองด้อยค่า ซึ่งทำให้บุคคลสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตรงกันข้ามกับผู้ที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนรวม อันหมายถึงสังคมและประเทศชาติ ดังนั้น ความเชื่อมั่นในตนเองจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่เราจำเป็นต้องปลูกฝัง และพัฒนาให้เกิดขึ้นในเด็กปฐมวัย ผู้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมต่อไป
จากเอกสารดังกล่าว สรุปได้ว่า ความเชื่อมั่นในตนเองมีความสำคัญมากสำหรับการอยู่ในสังคม เพราะบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะมีความกล้าในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ทำให้บุคคลสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้ และการที่เด็กประสบความสำเร็จมากเท่าไรจะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น ตรงกันข้ามถ้าเด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จะทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ดังนั้นความเชื่อมั่นในตนเองจึงความสำคัญมากเราจึงจำเป็นต้องปลูกฝังเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
1.4 ลักษณะของเด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง
ได้มีผู้ให้ลักษณะของเด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเองไว้หลายทัศนะ กล่าวคือ
วารุณี เจริญรัตนโชติ (2543 : 21) กล่าวว่า เด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะเป็นผู้ที่มีความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ ชอบอิสระ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มองโลกในแง่ดี และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้เหมาะสม
เมทินี ด่านยังอยู่ (2544 : 10) กล่าวว่า เด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชอบอิสระ จิตใจมั่นคง กล้าเผชิญความจริง รวมทั้งมองโลกในแง่ดี มีความรับผิดชอบ และปรับตัวเข้ากับสังคมอย่างมีความสุข
จิราพร ปั้นทอง (2550 : 10) กล่าวว่า เด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะมีลักษณะของบุคลิกภาพที่เป็นคนเปิดเผย มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าเผชิญต่อความจริง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มองโลกในแง่ดี สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังความเชื่อมั่นในตนเองให้เกิดขึ้นกับเด็ก โดยการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้เด็กได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจและภูมิใจในความสามารถ มองเห็นคุณค่าในตนเองอันจะส่งผลให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเองได้
จากเอกสารดังกล่าว สรุปได้ว่า เด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะเป็นคนที่กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าเผชิญต่อความจริง มีความรับผิดชอบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มองโลกในแง่ดี สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตนเองโดยการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจะทำให้เด็กได้เห็นคุณค่าในสิ่งที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติและจะทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตนเอง
1.5 ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง
จิราพร ปั้นทอง (2550 : 12) กล่าวว่า ในการส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กนั้นต้องอาศัยประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยเริ่มจากครอบครัวเป็นอันดับแรก เมื่อเด็กเติบโต โรงเรียนเป็นสังคมที่กว้างขึ้นสำหรับเด็ก ซึ่งมีผลทำให้เด็กเกิดประสบการณ์ ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ เด็กได้รับนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยควรพยายามสร้างและจัดประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่เด็กที่กำลังเจริญเติบโตขึ้นให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
เมทินี ด่านยังอยู่ (2544 : 12) กล่าวว่า ในการส่งเสริมความเชื่อมั่นสถาบันครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูให้ความรักและความอบอุ่น รวมทั้งให้โอกาสเด็กกระทำสิ่งต่าง ๆ สถาบันการศึกษาเป็นอีกสถาบันหนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญในการจัดบรรยากาศและกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กได้ฝึกฝน ให้ความรักความอบอุ่น ความเป็นกันเองและให้ความเป็นมิตร รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กแสดงออกอย่างเต็มที่ ยอมรับในความสามารถของเด็กแต่ละคนโดยผู้ใหญ่หรือบุคคลรอบข้างไม่นำเด็กของเราไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น
จากเอกสารดังกล่าว สรุปได้ว่า ในการส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัวเป็นอันดับแรกการอบรมเลี้ยงดูด้วยความรักและความอบอุ่น และเปิดโอกาสให้เด็กลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจะทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและให้เด็กได้แสดงออกอย่างเต็มที่และไม่นำเด็กไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น
1.6 งานวิจัยที่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นในตนเอง
งานวิจัยต่างประเทศ
นักการศึกษาต่างประเทศได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยไว้หลายทัศนะ กล่าวคือ
มุสเสน (Mussen. 1969 : 261) ศึกษาพบว่า พ่อแม่ที่ให้โอกาสและได้รับการสนับสนุนความต้องการในด้านความอยากรู้อยากเห็น จะทำให้เด็กมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง พึ่งตนเองได้ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ กล้าพูดกล้าแสดงออก สามารถเผชิญสถานการณ์ใหม่ โดยไม่วิตกกังวลและมีความเชื่อมั่นในตนเอง
ดักเกอร์ (Dugger. 1969 : 1817 – A) ได้ศึกษาเรื่องความเป็นผู้นำพบว่า ผู้นำมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีความสามารถในการแสดง และแมน (Man. 1969 : 152 – 174) ได้สรุปว่าลักษณะความเป็นผู้นำมีความสัมพันธ์อย่างสูงกับลักษณะทางการแสดงตัวและความสามารถในการปรับตัว ไม่มีความวิตกกังวล
กัวร์ (Goor. 1974 : 3514 – A) พบว่าเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง จะมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีความสามารถในการแก้ปัญหา กล้าแสดงความคิดเห็นใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาได้ดีกว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ต่ำอีกด้วย
ชอร์แบน (Shoban. 1950 : 148) ศึกษาพบว่า บิดามารดาที่เข้มงวดกับบุตร จะทำให้บุตรขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความกล้าแสดงออกความคิดเห็น ไม่กล้าตัดสินใจและจากงานวิจัยของแรดเก (Radke. 1964 : 369) พบว่า บุตรจากครอบครัวที่พ่อแม่ยอมรับจะมีลักษณะเชื่อมั่นในตนเอง เป็นที่ยอมรับของสังคม ให้ความร่วมมือกับกับเพื่อนฝูง ไว้ใจในตนเองและมีความรับผิดชอบสูง
งานวิจัยในประเทศ
พิมพิกา คงรุ่งเรือง (2542 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาลักษณะพฤติกรรมความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะตามแกนแห่งการเรียนรู้ของไฮ / สโคป ซึ่งประกอบด้วยวัสดุที่หลากหลายการได้กระทำสัมผัส การเปิดโอกาสให้เด็กเลือก การใช้ภาษาของเด็ก และการสนับสนุนของผู้ใหญ่โดยแบ่งเป็นการวิจัยเป็น 3 ระยะ โดยใช้ปริมาณของปัจจัยตามแกนแห่งการเรียนรู้ของไฮ / สโคป แตกต่างกันโดยในระยะที่ 1 ใช้การสนับสนุนของผู้ใหญ่มากที่สุดเพื่อให้เด็กเกิดความไว้วางใจ รองลงมาคือการเลือก การกระทำ วัสดุ และปัจจัยที่ใช้น้อยที่สุดคือการใช้ภาษา ระยะที่ 2 ยังคงใช้การสนับสนุนของผู้ใหญ่มากที่สุด เพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดริเริ่มที่จะปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง รองลงมาคือการเลือกการกระทำ วัสดุ และการใช้ภาษาโดยใช้ในปริมาณเท่า ๆ กัน และระยะที่ 3 ใช้การเลือก ภาษาของเด็ก การกระทำ และวัสดุในประมาณเท่า ๆ กันเพื่อให้เด็กเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง เมื่อสิ้นสุดการวิจัยพบว่า เด็กมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงขึ้น โดยมีระยะเวลาสัมพันธ์กับปริมาณการใช้ปัจจัยตามแกนแห่งการเรียนรู้ของไฮ / สโคป
วารุณี เจริญรัตนโชติ (2543 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาแนวโน้มและอัตราการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์แบบปฏิบัติการทดลอง ผลการศึกษาพบว่า เด็กปฐมวัยมีแนวโน้มและอัตราการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นในตนเองจากการจัดประสบการณ์แบบปฏิบัติการทดลองเพิ่มสูงขึ้น และเด็กปฐมวัยที่มีระดับความเชื่อมั่นในตนเองสูงและต่ำมีแนวโน้มและอัตราการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความเชื่อมั่นในตนเองไม่ต่างกันโดยเด็กปฐมวัยที่มีระดับความเชื่อมั่นในตนเองสูงและต่ำมีแนวโน้มและอัตราการเปลี่ยนแปลงระดับความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มสูงขึ้น
2. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนิทาน
2.1 ความหมายของนิทาน
วันเนาว์ ยูเด็น (2542 : คำนำ) ได้ให้ความหมายของนิทานว่า นิทานคือ ชีวิต เรื่องราวในนิทานที่แท้จริงเป็นเรื่องราวของชีวิต นิทานไม่ใช่เรื่องสำหรับเพียงเพื่อ ฟัง อ่าน เพื่อสนุก หรือรับคำสอนที่แทรกอยู่เท่านั้น
สัณหพัฒน์ อรุณธารี (2542 : 2) ให้ความหมายของนิทานว่า นิทานคือเรื่องที่มีผู้แต่งขึ้นใหม่ หรือเป็นการเล่าสืบต่อกันมา เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินผู้ฟังเป็นสำคัญ และสอดแทรกคุณธรรมคู่ความรู้ประกอบ
เกริก ยุ้นพันธ์ (2539 : 8) ได้ให้ความหมายของนิทาน หมายถึง เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นการสร้างเรื่องขึ้น เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ตลอดจนแทรกแนวคิดเพื่อให้เด็กนำไปเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต
กัลยา นิ่มจิตต์ (2545 : 8) ให้ความหมายของนิทานว่า เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา เพื่อให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยแฝงคุณธรรม คติสอนใจ และให้ความรู้ สร้างจินตนาการให้กับผู้อ่านและผู้ที่ได้ฟัง นิทานเป็นสื่อที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็ก
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า นิทานหมายถึงเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาหรือเป็นนิทานที่แต่งขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน โดยเนื้อเรื่องของนิทานแฝงคุณธรรม คติธรรมต่าง ๆ นอกจากนี้จะเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กอีกด้วย
2.2 คุณค่าของนิทาน
สมศักดิ์ ปริปุรณะ (2542 : 59 – 62) กล่าวว่า การเล่านิทานเป็นวิธีการให้ความรู้วิธีหนึ่ง ที่ทำให้เด็กสนใจในการเรียนรู้ สามารถจดจำ กล้าแสดงอออก และมีแรงจูงใจที่จะเปิดรับพฤติกรรมที่พึงปรารถนา นอกนั้นยังช่วยตอบสนองความต้องการของเด็ก เช่น ความอยากรู้อยากเห็น ความสัมฤทธิ์ผล ความต้องการเป็นที่ยอมรับ เนื้อหาของนิทานที่มีความสัมพันธ์กับความต้องการดังกล่าวจะช่วยให้เด็กสมความปรารถนาและมีความสุข กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ นิทานมีความสำคัญและประโยชน์ต่อเด็ก ดังนี้
1. เป็นเครื่องมือในการสอนที่มีประสิทธิภาพในการชักจูงผู้เรียนให้คล้อยตาม เป็นตัวกระตุ้นแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในตัวผู้เรียน เป็นตัวกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และการแสดงออกอันเป็นที่พึงประสงค์ของสังคมซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและบุคลิกภาพของผู้เรียน
2. เป็นเครื่องมือกระตุ้นและโน้มน้าวให้เด็กเปิดใจที่จะยอมรับพฤติกรรมด้านต่าง ๆ และตอบสนองความต้องการทางธรรมชาติของเด็กด้วย
3. เป็นตัวแบบในการหล่อหลอมพฤติกรรมและบุคลิกภาพของเด็ก
วรรณี ศิริสุนทร (2532 : 21) กล่าวว่า นิทานที่เด็กได้รับฟังแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อย ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ช่วยเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ให้แก่เด็กได้ ดังนี้
1. ฝึกให้เด็กเป็นผู้รู้จักฟัง มีสมาธิ รู้จักรวบรวมอิริยาบถของตนเอง
2. ทำให้เด็กได้ผ่อนคลายอารมณ์ ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน และเพิ่มพูนความรู้จากการฟัง
3. ช่วยเพิ่มพูนความรู้ทางภาษา เด็กรู้จักคำมากขึ้น รู้จักเก็บใจความและเนื้อเรื่อง
4. ช่วยให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น มีที่พึ่งทางใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
5. ทำให้เด็กเกิดจินตนาการจากเรื่องราวที่ได้ฟัง เช่น เรื่องเกี่ยวกับนางฟ้า เรื่องสัตว์ต่าง ๆ และเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติง่าย ๆ
2.3 ประเภทของนิทาน
การแบ่งประเภทของนิทานตามรูปแบบของนิทาน สามารถจำแนกและแบ่งได้ตามเนื้อหาสาระที่เป็นเรื่องราวของนิทาน ซึ่งมีผู้คุณวุฒิหลายท่านได้อธิบายวิธีการแบ่งประเภทนิทานตามรูปแบบของนิทาน ไว้ดังนี้
เกริก ยุ้นพันธ์ (2539 : 20 – 22) กล่าวถึงการแบ่งประเภทของนิทานตามรูปแบบของนิทาน แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ 8 ประเภท คือ
1. เทพนิทานหรือเทพนิยาย หรือเรื่องราวปรัมปรา เป็นนิทานหรือนิยายที่เกินเลยความเป็นจริงเหนือความเป็นจริงของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอภินิหาร ตัวเอกหรือตัวละครเด่น ๆ จะมีอภินิหารหรือเวทมนต์ ฤทธิ์เดช ฉากหรือสถานที่ในเนื้อเรื่องมักเป็นสถานที่พิเศษหรือถูกกำหนดขึ้นมา เช่น สรวงสวรรค์หรือเมืองบาดาล มีพระเอกเป็นเจ้าชาย มีนางเอกเป็นเจ้าหญิง มีนางฟ้า มีเทวดา มียักษ์ ฯลฯ เป็นต้น
2. นิทานประจำถิ่นหรือนิทานพื้นบ้าน มักเป็นนิทานที่ถูกเล่าขานตกทอดต่อเนื่องกันมา เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตำนานพื้นบ้าน ประวัติความเป็นมาของท้องถิ่น ภูเขา ทะเล แม่น้ำ เรื่องราวของโบราณวัตถุที่มีเหตุแห่งที่มาของการสร้าง การเกิด ฯลฯ เป็นต้น
3. นิทานคติสอนใจ เป็นนิทานที่เลียบเคียงเชิงเปรียบเทียบกับชีวิตและความเป็นอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ให้บังเกิดผลในการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ให้พิถีพิถันละเอียดรอบคอบและไม่ประมาท ช่วยเหลือและเมตตาต่อผู้อื่น และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
4. นิทานวีรบุรุษ เป็นนิทานที่กล่าวอ้างถึงบุคคลที่มีความสามารถ องอาจ กล้าหาญ นอทานวีรบุรุษมักเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องจริงของบุคคลที่สำคัญ ๆ ไว้ แต่มักสร้างฉากหรือสถานการณ์น่าตื่นเต้นหรือเกินความเป็นจริง เพื่อให้เรื่องราวสนุกสนาน และทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามว่าบุคคลผู้เป็นวีรบุรุษนั้นมีความสามารถและน่าสนใจจริง ๆ
5. นิทานอธิบายเหตุ เป็นนิทานที่เป็นเรื่องราวของเกตุที่มาของสิ่งหนึ่งสิ่งใดและอธิบายพร้อมตอบคำถามเรื่องราวนั้น ๆ ด้วย เช่น เรื่องกระต่ายในดวงจันทร์ ทำไมน้ำทะเลจึงเค็ม นกยูงกับนกกา ฯลฯ เป็นต้น
6. เทพปกรณัม เป็นนิทานที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อโดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลที่มีอภินิหารเหนือความเป็นจริงลึกลับ ได้แก่ พระอินทร์ พระพรหม ทศกัณฑ์ ฯลฯ เป็นต้น
7. นิทานที่มีสัตว์เป็นตัวเอก และเปรียบเทียบเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันในสังคม สอนจริยธรรมแฝงแง่คิดและแนวทางแก้ไขเป็นบางครั้ง หรือบางครั้งสอบแบบทางอ้อม ผู้อ่านหรือผู้ฟังจะต้องพิจารณาเอกมักเป็นเรื่องราวบันเทิงคดีที่สนุกสนาน
8. นิทานตลกขบขัน เป็นนิทานที่มีเรื่องราวเปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่แต่มีมุมที่ตลกขบขัน สนุกสนาน ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เนื้อเรื่องจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับไหวพริบ เรื่องราวแปลก ๆ เรื่องเหลือเชื่อ เรื่องเกินความเป็นจริง ฯลฯ เป็นต้น
วรรณี ศิริสุนทร (2532 : 13 – 19) ได้แบ่งนิทานสำหรับเด็กออกเป็น 5 ประเภท คือ
1. นิทานพื้นบ้าน (Folk tales) เป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน จนภายหลังมีการเขียนขึ้นตามเค้าเดิมบ้าง จดจำเรื่องราวมาเขียนขึ้นบ้าง ไม่ปรากฏว่าผู้แต่งดั้งเดิมเป็นใครมักจะกล่าวอ้างว่าเป็นขอวงเก่าแล้วเอามาเล่าใหม่ นิทานพื้นบ้านแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้
1.1 นิทานเกี่ยวกับสัตว์พูดได้ (Talking – Beast tales) มีตัวละครเป็นสัตว์พูดจาโต้ตอบกัน บางครั้งสัตว์ก็พูดจาโต้ตอบกับคนด้วย เช่น เรื่องแม่ไก่สีแดง ปลาบู่ทอง และลูกเสือกับลูกวัว เป็นต้น
1.2 นิทานไม่รู้จบ (Cumulative tales) เป็นนิทานเรื่องธรรมดาพื้น ๆ แต่เนื้อเรื่องมีการกระทำต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ และซ้ำ ๆ กัน เช่น เรื่อง ตากับยาย ลูกไก่ตื่นตูม
1.3 นิทานตลกขบขัน (The Drolls หรือ Humorous tales) เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นทำนองไร้สาระหรือโง่เขลาและแปลกประหลาด ชวนให้เห็นเป็นเรื่องตลกขบขัน บางครั้งก็เป็นการใช้ปฏิภาณไหวพริบ เช่น เรื่องศรีธนญไชย
1.4 นิทานอธิบายเหตุ (Pourquoi stories หรือ Tales that tell why) ส่วนใหญ่นิทานพื้นบ้านชนิดนี้มีเนื้อเรื่องอธิบายหรือตอบคำถามของเด็ก ๆ ว่า “ทำไม....?” ส่วนใหญ่อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของสัตว์หรือขนบธรรมเนียมประเพณีของคนชาติต่าง ๆ บางครั้งก็เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น เรื่องทำไมกระต่ายจึงหาวสั้น เสือทำไมจึงมีลาย น้ำทะเลทำไมจึงเค็ม
1.5 เทพนิยาย (Fairy tales) บางครั้งเรียกว่า นิทานเกี่ยวกับเวทมนต์คาถา (Tales of magic) ลักษณะของนิทานชนิดนี้ที่เห็นเด่นชัดคือ เรื่องมักยาว ซับซ้อน ตัวละครมักมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์สามารถบันดาลสิ่งที่ดีงามหรือสิ่งชั่วร้ายได้ หรือมีผู้วิเศษสามารถทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้อย่างที่คนธรรมดาไม่สามารถจะทำได้ เป็นนิทานพื้นบ้านชนิดที่ครองใจเด็กมาเป็นเวลาช้านานมักจะนิยมขึ้นต้นว่า “ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” หรือ “ในกาลครั้งหนึ่ง” เช่น เรื่องสังข์ทอง
พระรถเมรี เจ้าหญิงนิทรา
2. นิทานสอนคติธรรม (Fables) มีลักษณะเป็นนิทานสั้น ๆ ตัวละครมีทั้งคนและสัตว์ สัตว์มีบทบาทเหมือนคน มีแกนเรื่องแกนเดียว มีโครงเรื่องง่ายและสั้น และต้องให้บทเรียนที่สอนใจเป็นข้อสรุปที่ชัดเจน นิทานคติธรรมของต่างประเทศที่รู้จักกันดีได้แก่ นิทานอีสป (Aesop’s Fables) ผู้เขียนคือ อีสป (Aesop) ซึ่งเข้าใจว่าเป็นทาสชาวกรีก มีชีวิตอยู่ระหว่าง 620 – 520 - 560 ปี ก่อนคริศตกาลเนื่องจากเขาถูกจำกัดเสรีภาพในการพูด และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจึงพยายามหาทางออกด้วยการแสดงความคิดเห็นออกมาในรูปของนิทานคติธรรม ตัวอย่างได้แก่เรื่อง หมาป่ากับลูกแกะ ราชสีห์กับหนู นิทานคติธรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. นิทานเทียบสุภาษิต เป็นนิทานที่ยกสุภาษิตตั้งเป็นโคลง 1 บท แล้วมีนิทานเปรียบเทียบได้กับโคลงนั้น
2. นิทานชาดก เป็นนิทานสอนคติธรรมของอินเดีย คำว่า ชาดก มาจากภาษา
มครู แปลว่า เกิดแล้ว หมายถึง เรื่องราวของพระพุทธเจ้าและพระสาวกที่เกิดขึ้นมาแล้วในชาติก่อน ๆ และ แต่ละชาติได้บำเพ็ญบารมีคือทำความดียิ่งขึ้นจนชาติสุดท้ายได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
3. นิทานปกรณัม (Myth) เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์และเรื่องราวในบรรพกาลเกี่ยวกับพื้นโลกท้องฟ้า และพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เทพเจ้าเป็นผู้ควบคุมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งมีพลังอำนาจทางเวทมนต์คาถาและอิทธิปาฏิหาริย์ ได้แก่ เรื่อง The Heroes โดย Charles Kingsley และเทวดาพระเวท โดย อุดม รุ่งเรืองศรี
4. มหากาพย์และนิทานวีรบุรุษ (Epic and hero tales) เป็นนิทานที่มีลักษณะคล้ายกับเทพปกรณัม ต่างกันแต่ว่าตัวละครของนิทานประเภทนี้เป็นมนุษย์ไม่ใช่เทพเจ้า มีการกระทำที่กล้าหาญฟันฝ่าอุปสรรคและประสบผลสำเร็จในที่สุด ได้แก่ เรื่อง King Arthur and the Knights of the Round (กษัตริย์อาเธอร์และอัศวินโต๊ะกลม) Robin Hood (โรบินฮูด) Ramayana (รามเกียรติ์) และเรื่องของวีรบุรุษ ประจำท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น ท้าวแสนปม ต้นราชวงศ์อู่ทอง และไกรทองวีรบุรุษแห่งเมืองพิจิตร
5. หนังสือภาพที่อ่านเล่นเป็นเรื่องสมัยใหม่สำหรับเด็กที่มีตัวเอกเป็นสัตว์ (Animal stories) นิทานสมัยเก่าที่มีตัวละครเป็นสัตว์จะพบมากในบทกลอนกล่อมเด็กนิทานพื้นบ้านและนิทานสอนคติธรรม ปัจจุบันนี้มีผู้แต่งนิทานสำรับเด็กที่มีตัวละครเป็นสัตว์ โดยแบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่ สัตว์ที่มีบทบาท การกระทำอย่างคน สัตว์ที่มีความเป็นอยู่อย่างสัตว์แต่พูดได้อย่างคน และสัตว์ที่มีความเป็นอยู่และมีความนึกคิดตามธรรมชาติของสัตว์ เรื่องอ่านเล่นสมัยใหม่สำหรับเด็กเล็กเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์หรือที่มีตัวละครเป็นสัตว์ มีทั้งที่แต่งเป็นเรื่อง ๆ ไป และแต่งออกมาเป็นหนังสือชุด ตัวเอกส่วนใหญ่มีบทบาทค่อนข้างซุกซน แต่เด็ก ๆ ชอบมากและส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นหนังสือภาพ เช่น The Ugly Duckling (ลูกเป็ดขี้เหร่) เขียนโดย ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน นิทานมีหลายประเภทด้วยกัน การแยกประเภทของนิทานขึ้นอยู่กับ รูปแบบของนิทานความสำคัญของเรื่องและที่มาของนิทานเป็นสำคัญ ซึ่งจะขอแบ่งประเภทของนิทานออกเป็น 8 ประเภท (สัณหพัฒน์ อรุณธารี. 2542 : 17) ดังนี้
1. นิทานปรัมปรา
2. นิทานท้องถิ่น
3. นิทานเทพนิยาย
4. นิทานตลกขบขัน
5. นิทานสร้างเสริมคุณธรรม
6. นิทานเรื่องเกี่ยวกับสัตว์
7. นิทานที่ให้ความรู้เฉพาะเรื่อง เช่น เรื่องยาเสพติด เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
8. นิทานส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า นิทานมีหลายประเภท สามารถแบ่งได้ตามลักษณะของเรื่อง ความสำคัญของนิทาน ตามแต่ยุคสมัยโดยใช้เกณฑ์การแบ่งที่แตกต่างกันออกไป
2.4 เกณฑ์การเลือกหนังสือนิทานสำหรับเด็ก
หลักการเลือกหนังสือนิทานให้เหมาะสมกับเด็กมีผู้ให้ข้อคิดไว้หลายท่าน ดังนี้
สัณหพัฒน์ อรุณธารี (2542 : 23) เรื่องและนิทานต่อไปนี้ไม่ควรนำมาเล่าให้เด็กฟัง
1. เป็นเรื่องที่หวาดเสียว น่ากลัวอย่างไม่มีเหตุผล เช่น เรื่องเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ
2. เรื่องเกี่ยวกับกับการรักใคร่ การหนีตามกันของหนุ่มสาว
3. เรื่องเกี่ยวกับการพลัดพรากพ่อแม่ และการถูกทอดทิ้ง
4. เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความโหดร้ายทารุณ มีการลงโทษอย่างรุนแรงเกินไป ควรมีการให้อภัยซึ่งกันและกัน
5. เรื่องที่ผู้เล่าไม่ถนัดที่จะเล่าจะทำให้เด็กมีเจตคติที่ไม่ดีได้
6. เรื่องที่สอดแทรกศีลธรรมมากเกินไป บ่อยเกินไปจนเด็กเบื่อ
2.5 รูปแบบการเล่านิทาน
ได้มีผู้เสนอรูปแบบของการเล่านิทานไว้หลายทัศนะ กล่าวคือ
กุลยา ตันติผลาชีวะ (2541 : 12 – 15) ได้พูดถึงรูปแบบการเล่านิทานว่า คือวิธีการที่ผู้เล่านิทานจะทำให้นิทานมีศักยภาพในการสร้างเสริมการเรียนรู้ ให้แก่เด็กนอกจากการเลือกเรื่องที่มีสาระสอดแทรกแนวคิด ความรู้ ปลูกฝังคุณธรรม การดำเนินเรื่องรวดเร็ว เรื่องสั้นเข้าใจง่าย ผู้เล่านิทานที่ดีต้องมีวิธีการเล่าที่จูงใจผู้ฟังด้วย เด็กไม่ต้องการคนเล่าเก่ง แต่ต้องการคนเล่าที่เข้าถึงความต้องการ ว่าเขาต้องการอะไร และเขาจะเข้าถึงเนื้อหานิทานได้อย่าไร ซึ่งรูปแบบการเล่านิทาน แต่ละแบบมีความจำเพาะของประสิทธิภาพการเล่าที่ผู้เล่าสามารถใช้ตามความเหมาะสม กล่าวคือ
1. การเล่านิทานปากเปล่า เป็นการเล่านิทานที่อาศัยเพียงคำพูดและน้ำเสียงของผู้เล่าไม่มีการใช้สื่อประกอบการเล่า เด็กจะฟังแต่น้ำเสียงและเรื่องราวซึ่งเป็นลักษณะของการฟังแบบรับที่จูงใจให้หลับเป็นหลัก การเล่าตามรูปแบบนี้อาจใช้กับการเล่าที่ต้องการจูงใจให้เด็กทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมีสมาธิก็ได้ การเล่านิทานปากเปล่าอาจให้เด็กเล่าเอง ผู้ใหญ่เล่าบ้าง หรือช่วยกันเล่า การเล่านิทานปากเปล่าไม่ควรเล่านานเกิน 15 นาที เด็กจะไม่สนุกนักถ้าต้องนั่งฟังนาน ๆ
2. การเล่านิทานประกอบท่าทาง การเล่านิทานแบบนี้เป็นการเล่าที่มีชีวิตชีวามากกว่าการเล่าปากเปล่าเพราะเด็กสามารถติดตามเรื่องราวที่เล่าได้ และจินตนาการเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตามท่าทางของผู้เล่า และสนุกสนานมากขึ้นเพราะเห็นภาพพจน์ของเรื่องที่เล่า ท่าทางที่ใช้ประกอบการเล่านิทานอาจเป็นท่าทางของผู้เล่า ท่าแสดงร่วมของเด็ก
3. การเล่านิทานประกอบภาพ ภาพที่ใช้ประกอบการเล่านิทานมีหลายชนิด มีทั้งภาพถ่าย ภาพโปสเตอร์ ภาพจากหนังสือ ภาพวาด ภาพสไลด์ ภาพเคลื่อนไหว หรือภาพฉาย การมีภาพสวย ๆ มาประกอบการเล่านิทานจะจูงใจเด็กและสร้างสรรค์จินตนาการอันบรรเจิดให้กับเด็กมาก เด็กจะสนุกมากขึ้นถ้าในขณะที่ฟังเรื่องและดูภาพนั้นผู้เล่ากระตุ้นให้เด็กแสดงความคิดเห็น และร่วมสร้างจินตนาการให้กับนิทานที่เล่า
4. การเล่านิทานประกอบเสียง ได้แก่ เสียงเพลง เสียงดนตรี แถบบันทึกเสียงต่าง ๆ สามารถนำมาประกอบการเล่านิทานได้ จุดประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดความตื่นเต้น อยากติดตาม
5. การเล่านิทานประกอบอุปกรณ์ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่หรือผู้เล่าจัดทำขึ้น เช่น หน้ากาก ตัวแสดงในนิทาน หุ่นมือ หุ่นชัก หุ่นเชิด ตุ๊กตา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสื่อประกอบการเล่านิทานที่สำคัญ อุปกรณ์สามารถทำให้เด็กสนุกและตื่นตาไปกับนิทานที่เล่าได้เป็นอย่างดี สร้างความสนใจในการฟังนิทานให้แก่เด็กมากกว่ารูปแบบอื่น ๆ
เกริก ยุ้นพันธ์ (2539 : 26 – 29) ได้แบ่งชนิดของการเล่านิทานได้ดังนี้
1. การเล่านิทานปากเปล่า เป็นนิทานที่ผู้เล่าเรื่องจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ตั้งแต่การเลือกเรื่องให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกลุ่มผู้ฟัง นิทานปากเปล่าเป็นนิทานที่ดึงดูด และเร้าความสนใจของผู้ฟังด้วย น้ำเสียง แววตา ลีลาและท่าทางประกอบการเล่าของผู้เล่าที่สง่างามและพอเหมาะพอดี
2. นิทานวาดไปเล่าไป เป็นการเล่านิทานที่ผู้เล่าต้องมีประสบการณ์การเล่านิทานแบบปากเปล่าอยู่มากพอสมควร แต่จะต้องเพิ่มการวาดรูปในขณะเล่าเรื่องราว รูปที่วาดขณะเล่าเรื่องนี้ ภาพที่วาดออกมาอาจสอดคล้องกับเรื่องที่เล่า หรือบางครั้งเมื่อเล่าจบ รูปที่วาดจะไม่สอดคล้องกับเรื่องที่เล่าเลยก็ได้ คือจะได้ภาพใหม่เกิดขึ้น
3. นิทานที่เล่าโดยใช้สื่ออุปกรณ์ประกอบขณะเล่า เป็นนิทานที่ผู้เล่าจะต้องใช้สื่อที่จัดเตรียมหรือหามาเพื่อใช้ประกอบการเล่า เช่น การเล่าโดยใช้หนังสือ นิทานหุ่นนิ้ว นิทานเชิด นิทานเชือก เป็นต้น ขณะเล่าอาจมีดนตรีประกอบหรือเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพื่อประกอบการเล่าให้สนุกสนานยิ่งขึ้น
สรุปได้ว่า รูปแบบการเล่านิทานนั้นมีมากมาย เช่น การเล่านิทานแบบปากเปล่า การเล่านิทานแบบวาดไปเล่าไป การเล่านิทานแบบใช้สื่อประกอบการเล่า ฯลฯ การเล่านิทานที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับผู้เล่านิทานและรูปแบบที่ตัวผู้เล่านำมาการเล่าผู้เล่านิทานต้องเลือกเล่านิทานและรูปแบบให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพของผู้เล่าด้วย
2.6 วิธีการเล่านิทาน
การเล่านิทานให้สนุก และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังจะต้องฝึกฝนอบรมจนเป็นทักษะ หรือเกิดจากความสามารถเฉพาะตัวที่มีแต่เดิม หากผู้เล่ามีความต้องการเป็นผู้เล่านิทานที่ดี เก่ง มีความสามารถในการจูงใจเด็กที่เป็นผู้ฟัง ควรที่จะศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ ทดลองปฏิบัติ และเล่านิทานให้เด็กฟังอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ (สัณหพัฒน์ อรุณธารี. 2542 : 25)
วรรณี ศิริสุนทร (2532 : 37) นิทานที่สามารถเล่าได้ดีและมีคุณค่าต้องประกอบด้วยกลวิธีการทางละครหรือการแระพันธ์ เพื่อความสนุกสนาน ประกอบทั้งความสามารถของผู้เล่านิทาน ซึ่งต้องใช้ภาที่สละสลวยเหมาะสมและคงไว้ซึ่งศิลปะในการเล่า อาจแบ่งขั้นตอนการเล่านิทานได้ 4 อย่าง ได้แก่
1. การเลือกเรื่องที่จะเล่า
2. การดัดแปลงเนื้อเรื่อง
3. การเตรียมตัว
4. สถานที่เล่านิทาน
ฉวีวรรณ กินาวงศ์ (2533 : 104) กล่าวไว้ว่า การเล่านิทานให้ไดเดีนั้นเป็นเรื่องยากพอสมควรผู้เล่าต้องใช้เทคนิคในการเล่าอย่างมาก เพื่อจะทำให้เด็กสนใจ ผู้เล่าต้องมีศิลปะในการเล่า นอกจากนี้ต้องให้ความรัก ความอดทน ความใกล้ชิดสนิทสนมกับเด็ก บุคลิกภาพและท่าทางของงผู้เล่าก็สำคัญ
การเล่านิทานให้ประสบผลสำเร็จตามจุดประสงค์นั้นจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. ทำความเข้าใจกับนิทานที่จะเล่าเสียก่อน
2. เลือกคำที่ง่าย ๆ
3. ใช้บทสนทนาจะทำให้เด็กตื่นเต้น
4. หลีกเลี่ยงการบรรยายและคำอธิบายที่ไม่จำเป็น
5. ใช้เสียงแบบสนทนากัน คือ ช้า ชัดเจน มีหนักเบา
6. จับเวลาให้ดี เว้นตามจังหวะตามอารมณ์ของเรื่อง
7. เวลาเล่าให้เป็นกันเอง ให้ความรักความสนิทสนมอย่างจริงใจ
8. นิทานที่นำมาเล่าให้ยาวพอ ๆ กับระยะความสนใจของเด็ก ประมาณ 15 - 20 นาที
9. มีรูปภาพประกอบอาจเป็นหนังสือภาพ หุ่น จะช่วยให้เด็กสนใจยิ่งขึ้น
10. เวลาเล่นอย่าย่อเรื่องให้สั้นจดขาดความสนุกไป
11. จัดบรรยากาศในห้องให้เหมาะสม
12. อย่าแสดงท่าทางประกอบการเล่ามากเกินไป
13. ขณะเล่าอาจให้เด็กมีส่วนร่วมในการเล่านิทานด้วยก็ได้ เช่น การแสดงท่าทางตามเนื้อเรื่องได้ไม่ควรบ่อยนัก
14. สายตาของผู้เล่าจะต้องกวาดมองเด็กทุกคน
15. หากมีเด็กพูดหรือถามขัดจังหวะควรบอกให้เด็กรอจนกว่าจะจอบเรื่อง
16. หลักจากเล่านิทานจบอาจให้เด็กช่วยกันตั้งชื่อเรื่องก็ได้
17. หลังจากเล่านิทานจบควรเปิดโอกาสถามและวิพากษ์วิจารณ์
18. ถ้านิทานเรื่องยาวผู้เล่าอาจเล่าเป็นตอน ๆ ก็ได้
ไพพรรณ อินทนิล (2534 : 103 – 106) ผู้เล่านิทานที่มีความสามารถเล่าได้เก่งจะทำให้นิทานเรื่องที่นำมาเล่ามีชีวิตชีวาสนุกสนานเป็นที่หลงใหลติดอกติดใจของเด็ก ๆ ได้ วิธีการดังต่อไปนี้
1. ผู้เล่าควรเล่าตามลำดับเหตุการณ์ไม่กระโดดข้ามไปมา
2. มีเทคนิคประกอบการเล่า
2.1 ใช้น้ำเสียงประกอบการเล่า
2.2 ใช้ท่าทางประกอบการเล่า
2.3 ใช้สีหน้าและแววตาแระกอบการเล่า
2.4 ใช้อุปกรณ์ประกอบการเล่า
3. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
3.1 บรรยากาศเงียบสงบ
3.2 ผู้ฟังไม่อยู่ในภาวะหิว ร้อน อยากเข้าห้องน้ำ หรือง่วงนอน
3.3 สถานที่สบายสะอาด
3.4 ความยาวของนิทานเหมาะสมกับช่วงความสนใจของผู้ฟังแต่ละวัย
4. ควรมีการประเมินผลการเล่านิทาน เพื่อทราบข้อดีข้อบกพร่องของตัวเองเพื่อทำให้การเล่านิทานครั้งต่อไปสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สิ่งที่นำมาประเมินคือ
4.1 ผู้ฟังติดตามเรื่องตลอดไหม
4.2 ผู้ฟังแสดงอาการเบื่อหน่ายหรือสนใจเรื่องอื่นมากกว่าหรือไม่
4.3 ผู้ฟังมีปฏิกิริยาตอบสนองมีส่วนร่วมหรือไม่
4.4 เนื้อเรื่องให้ความสนุกสนานและสาระหรือไม่
4.5 ผู้ฟังเข้าใจภาษาที่ผู้เล่าใช้หรือไม่
4.6 การใช้อุปกรณ์ประกอบการเล่านิทานเป็นไปโดยราบรื่นตามเนื้อเรื่องหรือไม่
สรุปได้ว่า การเล่านิทานนั้น ผู้เล่าจำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของเนื้อเรื่องและระยะความสนใจของเด็ก มีสื่อ รูปแบบการเล่าที่แตกต่างกันออกไป สถานที่และเวลา และในการเล่าทุกครั้งควรมีการประเมินว่าผู้ฟังมีความสนใจมากน้อยเพียงใดเพื่อนำมาปรับปรุงในการเล่าครั้งต่อไป
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนิทาน
งานวิจัยต่างประเทศ
มอร์โรจ์ (Morrow. 1986) ได้ทำการวิจัยผลการเล่านิทานแบบเล่าเรื่องซ้ำโดยไม่มีการชี้แนะในระดับเด็กวัยอนุบาล อายุเฉลี่ย 5 ปี 7 เดือน ผู้วิจัยและผู้ช่วยแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองกลุ่มควบคุม วิธีการดำเนินการวิจัย ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยเล่านิทานเรื่องเดียวกันให้เด็กฟังในช่วงเวลาเล่านิทานปกติหลังเล่านิทานให้กลุ่มควบคุมวาดภาพจากเรื่องที่ฟัง และกลุ่มทดลองเล่าเรื่องซ้ำให้ครูฟังเป็นรายบุคคลโดยไม่มีระดับ .05
ดิกสัน จอห์นสัน และชอลท์ (Dixson , Jhonson and Solf. 1977 : 367 – 379) ได้ศึกษาเด็ก 4 กลุ่ม ในจำนวน 3 กลุ่ม ที่ได้รับการเล่านิทานให้ฟัง โดยแต่ละกลุ่มหลังจากที่ได้ฟังนิทานแล้วมีการสนทนาหารือพาไปศึกษานอกสถานที่หรือแสดงแบบอักษรและอีกลุ่มเป็นกลุ่มควบคุม ผลการทอลองพบว่า ในการฟังนิทานนั้นเด็กได้แสดงบทบาทตัวละครในเรื่องไปด้วยจะพัฒนาความคิดต่าง ๆ ได้ดีที่สุด แสดงว่า เมื่อเด็กได้ฟังนิทานแล้วเด็กย่อมมีความต้องการที่จะเลียนแบบตัวละครที่ตนชอบ หรือตัวละครที่ประสบผลสำเร็จและยังพบว่าเนื้อเรื่องนิทานเป็นเรื่องไกลความจริงจะได้ผลดีต่อความคิดของเด็กได้ดีกว่านิทานที่มีเนื้อเรื่องใกล้ชีวิตจริงของเด็ก
งานวิจัยในประเทศ
นื้อน้อง สนับบุญ (2541 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่านิทาน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน ชาย – หญิง อายุ 5 – 6 ปี จำนวน 45 คน ผลของการศึกษาพบว่า คะแนนความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยก่อนการทดลองและหลังการทดลองกับวิธีการจัดประสบการณ์เล่านิทานที่เด็กเล่าเรื่องตามรูป จากหนังสือที่เด็กเลือกต่อจากครูมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
ประไพ แสงดา (2544 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเล่านิทานไม่จบเรื่อง ที่มีต่อความสามารถด้านการเขียนของเด็กปฐมวัย กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน ชาย – หญิง
อายุ 4 - 5 ปี จำนวน 15 คน ผลการศึกษาพบว่า ความสามารถด้านการเขียนของเด็กปฐมวัยในแต่ละช่วงระยะเวลาของกิจกรรมเสริมการเล่านิทานไม่จบเรื่องมีการเปลี่ยนแปลงขั้นความสามารถด้านการเรียนสูงขึ้น
กัลยา นิ่มจิตต์ (2545 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษารูปแบบการเล่านิทานของผู้ปกครองเด็กปฐมวัยโรงเรียนอนุบาลวัดนางนอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปกครองเด็กปฐมวัยวัดนางนอง จำนวน 200 คน ผลของการศึกษาพบว่า เพศ และอายุของผู้ปกครองที่แตกต่างกันมีรูปแบบการเล่านิทานแตกต่างกันอย่าไม่มีนับสำคัญทางสถิติ ส่วนอาชีพ การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและระดับชั้นเรียนของเด็กที่ต่างกัน มีรูปแบบการเล่านิทานแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมความร่วมมือ
3.1 ความหมายของพฤติกรรมความร่วมมือ
สลาวิน (Slavin. 1983 : 3 - 5) ได้ให้ความหมายของความร่วมมือไว้ว่า ความร่วมมือ หมายถึง การที่สมาชิกในกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปสามารถที่จะทำงานร่วมกัน มีการสื่อสาร กระตุ้นหรือขอร้องให้สมาชิกในกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย
วิจิตร อาวะกุล (2542 : 309) กล่าวว่า ความร่วมมือ (Cooperating) หมายถึง ความพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่ม เพื่อบรรลุถึงความสำเร็จของงานด้วยความเต็มใจ
ศศิมา พรหมรักษ์ (2546 : 14) กล่าว่า ความร่วมมือ หมายถึง การแสดงออกของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ในการช่วยกันปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ หรือทำงานร่วมกันได้อย่างพร้อมเพรียง เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากความหมายที่นักการศึกษากล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ความร่วมมือ หมายถึง การที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีการทำงานที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะทำกิจกรรมให้สำเร็จตามที่ได้วางไว้
3.2 ลักษณะของพฤติกรรมความร่วมมือ
แอนเซลโม และฟรานซ์ (Anselmo and Franz. 1995 ซ 439) กล่าวถึงพฤติกรรมความร่วมมือว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของพฤติกรรมชอบสังคม (Prosocial) และมีนักการศึกษาได้กล่าวถึงลักษณะพฤติกรรมความร่วมมือไว้ดังนี้
สลาวิน (Slavin. 1983 : 5) กล่าวว่า โครงสร้างการร่วมมือเป็นสถานการณ์ที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปยอมรับการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือมีความต้องการในการทำงานบางอย่างร่วมกัน
อดัมส์ และฮามม์ (Adams and Hamm. 1990 : 26 – 27) กล่าวว่า ยังมีลักษณะการเป็นผู้นำเรียนรู้การทำงานร่วมกันเพื่อที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายของกลุ่มเกิดความก้าวหน้าและทักษะการทำงานร่วมมือกัน
เบิร์ค (Berk. 1994 : 30) กล่าวถึง ความร่วมมือของเด็กวัย 3 – 6 ปี ว่าเป็นการร่วมมือในการเล่น เด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากยิ่งขึ้นในการเล่นที่จุดประสงค์อย่างเดียวกันหรือในการทำงานใดให้ได้ผลร่วมกัน เช่น การร่วมกันก่อปราสาททราย การวาดภาพ
มุสเซน และคนอื่น ๆ (Mussen and others. 1996 : 376) กล่าวว่า ความร่วมมือเป็นพฤติกรรมทางสังคมอย่างหนึ่งที่มาจากการมีปฏิสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันระหว่างเด็ก ก่อให้เกิดการพัฒนาทางภาษา เมื่อเด็กอายุมากขึ้นเขาก็จะพยายามทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น มีการร่วมมือกันในการแก้ปัญหามีความคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นมากขึ้น การโต้เถียงและการทะเลาะก็ลดลง
จากที่นักการศึกษากล่าวมา สรุปได้ว่า ลักษณะพฤติกรรมความร่วมมือเกิดมาจากการทำงานกลุ่มร่วมกัน มีการแก้ปัญหากันภายในกลุ่ม มีการช่วยเหลือกันภายในกลุ่มจะทำให้ลดการทะเลาะกันภายในกลุ่มได้
3.3 แนวทางการส่งเสริมพฤติกรรมความร่วมมือ
พัชรี ผลโยธิน (2540 : 60 – 61) กล่าวว่า การให้เวลาให้โอกาส และให้เด็กเล่นวัสดุอุปกรณ์หรือทำงานร่วมกันในกลุ่มย่อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอ รวมทั้งให้กำลังใจหรือแสดงความชื่นชมและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการร่วมกันแล้ว จะช่วยพัฒนาเด็กให้เกิดพฤติกรรมความร่วมมือได้ ถ้าเด็กมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับเด็กอื่นหรือผู้ใหญ่ เด็กจะยิ่งมีโอกาสเรียนรู้ความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักแก้ปัญหา และเพื่อจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเด็กทั้งทางด้านสังคมและสติปัญญาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะเด็กต่างจากผู้ใหญ่ตรงที่เด็กจะแสดงออกกับเพื่อนแต่ละคนอย่างเสมอภาค พฤติกรรมความร่วมมือจึงเกิดขึ้น
หรรษา นิลวิเชียร (2535 : 162) กล่าวว่า ครูสามารถส่งเสริมและแนะนำเด็กให้รู้จักการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันในกลุ่ม โดยการให้กำลังใจ ลดการแข่งขัน และให้เด็กวางแผนการทำกิจกรรมร่วมกัน
มอร์ริสัน (Morrison. 1995 : 484) กล่าวว่า ห้องเรียนเป็นแหล่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทางสังคม การส่งเสริมให้เด็กเกิดพฤติกรรมความร่วมมือสามารถทำได้โดยครูกระตุ้น สนับสนุนและเสริมแรงให้เด็กร่วมมือกัน ชี้แนะให้เด็กแสดงออกพฤติกรรมที่เหมาะสม กระตุ้นให้เด็กคิดทบทวนพฤติกรรมที่ได้ทำว่าเหมาะสมหรือไม่ โอกาสต่อไปจะแสดงพฤติกรรมอย่างไร ครูชมเชยเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม
ศศิมา พรหมรักษ์ (2546 : 15) กล่าวว่า การส่งเสริมพฤติกรรมความร่วมมือในเด็กทำได้โดย ควรจัดกิจกรรมเป้นกลุ่มย่อยให้เด็กได้เล่นและได้ร่วมกันทำเป็นกุล่มอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับวัยพัฒนาการและความต้องการของเด็ก ให้เด็กได้แสดงปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเสมอภาคกัน มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยเหลือกันทำงาน แบ่งปันและใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน ครูต้องให้เวลา และโอกาสแก่เด็กในการฝึกฝนการทำงานทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ และครูควรมีวิธีการปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เช่น การเสริมแรง การชมเชย ซึ่งกิจกรรมที่ครูจัดเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมความร่วมมืออาจจะเป็นการเล่นเกม การเล่นบทบาทสมมติของเด็กในมุมบ้าน การจัดกิจกรรมศิลปะแบบกลุ่ม เป็นต้น
จากแนวทางการส่งเสริมพฤติกรรมความร่วมมือ สรุปได้ว่า การจัดกิจกรรมที่เป็นกลุ่มย่อยให้เด็กได้เล่นและทำงานกันภายในกลุ่ม รวมทั้งให้กำลังใจหรือแสดงความชื่นชม ให้กำลังใจ ลดการแข่งขัน และให้เด็กได้วางแผนการทำกิจกรรมร่วมกันภายในกลุ่ม
3.4 ลักษณะของกิจกรรมที่ส่งเสริมพฤติกรรมความร่วมมือ
พัชรี ผลโยธิน (2540 : 59 – 61) ได้กล่าวถึงกิจกรรมแบบร่วมมือ (Cooperative Activities) ว่าควรจะมีลักษณะกิจกรรมที่เด็กตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (ถ้าเป็นเด็กอนุบาลไม่ควรเกิน 6 คน) เล่นหรือทำงาน โดย
1. มีเป้าหมายร่วมกัน
2. ได้ตัดสินใจ
3. แลกเปลี่ยนความคิดและใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน
4. ได้เจรจา ต่อรอง
5. ร่วมกันเล่นหรือทำงานประสานกันให้สำเร็จตามเป้าหมาย
6. ประเมินความก้าวหน้าของตน
นอกจากนี้ พัชรี ผลโยธิน (2540 : 60 – 62) ยังได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของครูในการจัดกิจกรรแบบร่วมมือควรมีดังนี้
1. ครูต้องเห็นคุณค่าของกิจกรรมแบบร่วมมือ
2. ให้เวลา โอกาสเด็กได้ฝึกการทำงานร่วมกัน
3. จัดพื้นที่ตารางกิจกรรมประจำวันที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเด็กด้วยกัน
4. จัดวัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องเล่นที่น่าสนใจเหมาะสมกับวัยของเด็ก เป็นประเภทที่ให้โอกาสเด็กตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปต้องใช้ร่วมกัน หรือดัดแปลงเล่นได้หลายวิธี เช่น บล็อก น้ำ ทราย หุ่น ฯลฯ
5. ให้โอกาสเด็กเล่นหรือทำงานร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติ เมื่ออธิบายแก่เด็กในตอนแรกแล้วครูควรให้เด็กรับผิดชอบ ตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่เข้าไปแทรกแซง หรือชี้แนะมากเกินไปจนทำลายพฤติกรรมการร่วมมือของเด็ก
6. ไม่พยายามกระตุ้นการแข่งขัน
7. ส่งเสริม สนับสนุน และให้กำลังใจ กิจกรรมที่ส่งเสริมพฤติกรรมความร่วมมือให้กับเด็กอนุบาลนั้นควรเปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอื่นหรือผู้ใหญ่ เด็กจะเรียนรู้ความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักการแก้ปัญหา และควรเปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็น พฤติกรรมความร่วมจึงจะเกิดขึ้น
3.5 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมความร่วมมือ
งานวิจัยในต่างประเทศ
วอน (Vaughn. 1994 : A) ได้ศึกษาพฤติกรรมความร่วมมือจากการเรียนรู้แบบร่วมมือในเด็กเล็ก กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กอายุ 43 – 58 เดือน โดยวิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ครู การบันทึกภาพแบบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กเป็นเวลา 2 ปี พบว่า พฤติกรรมความร่วมมือ เป็นส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการปฏิสัมพันธ์ร่วมมือ มีการพูดจา แสดงให้เห็นได้จากแบบแผนการสนทนาในสถานการณ์ที่หลากหลาย
ลีจิวนี (Lejeune. 1995 : M) ได้ศึกษาพฤติกรรมการเล่นอย่างอิสระของเด็กปฐมวัยจากผลการเล่นเกมการแข่งขันและการร่วมมือโดยใช้วิธีการบันทึกพฤติกรรม พบว่ากลุ่มเด็กที่เล่นเกมมีพฤติกรรมการร่วมมือมากกว่ากลุ่มที่เล่นเกมการแข่งขัน
งานวิจัยในประเทศ
บุศรินทร์ สิริปัญญาธร (2541 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาแนวโน้มและอัตราการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมร่วมมือที่เกิดจากกิจกรรมศิลปะแบบสื่อผสมเป็นกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กปฐมวัยอายุ
5 – 6 ปี จำนวน 15 คน ใช้เวลาในการทดลอง 9 สัปดาห์ ๆ ละ 3 ครั้ง ๆ ละ 30 นาที ผลการศึกษาพบว่า
1. เด็กปฐมวัยได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะแบบสื่อผสมเป็นกลุ่มก่อนและระยะเวลาในการทดลองมีพฤติกรรมร่วมมือแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระดับ .000 โดยเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะแบบสื่อผสมเป็นกลุ่มมีพฤติกรรมร่วมมือสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมศิลปะแบบสื่อผสมเป็นกลุ่ม
2. พฤติกรรมร่วมมือในระยะเวลาที่เด็กปฐมวัยได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะแบบสื่อผสมเป็นกลุ่มมีแนวโน้มและอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น โดยมีแนวโน้มและอัตราการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ระยะเวลาสัปดาห์ที่ 1 – 7 มีแนวโน้มและอัตราการเปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจน และระยะเวลาสัปดาห์ที่ 8 – 9 มีแนวโน้มและอัตราการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
อารีรัตน์ ญาณะศร (2544 : บทคัดย่อ) ทำการศึกษาพฤติกรรมความร่วมมือของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การประกอบอาหารเป็นกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นเด็กปฐมวัยชาย – หญิง อายุระหว่าง 5 – 6 ปี ผลการศึกษาพบว่า เด็กปฐมวัยก่อนจัดประสบการณ์และระหว่างการจัดประสบการณ์การประกอบอาหารเป็นกลุ่มในแต่ละสัปดาห์ มีพฤติกรรมความร่วมมือแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .000 โดยเด็กปฐมวัยมีพฤติกรรมความร่วมมือระหว่างการจัดประสบการณ์การประกอบอาหารเป็นกลุ่มในแต่ละสัปดาห์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์


บทที่ 3
วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า
ในการวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
2. เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย
3. การสร้างและการหาคุณภาพของเครื่องมือ
4. แบบแผนการทดลองและวิธีดำเนินการทดลอง
5. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์
1. การกำหนดประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชาย – หญิง อายุระหว่าง 5 – 6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2 ห้อง จำนวน 68 คน
กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชาย – หญิง อายุระหว่าง 5 – 6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 1 ห้อง จำนวน 34 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling)
2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการจัดประสบการณ์การเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือ ประกอบด้วย
1. แผนการจัดประสบการณ์การเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือ
2. แบบสังเกตความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ การกล้าแสดงออกเป็นตัวของตัวเอง การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ความภูมิใจในตนเอง
ขั้นตอนในการสร้างแผนการจัดประสบการณ์การเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือ
1. ศึกษาเอกสารหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546
2. ศึกษาแนวคิดทฤษฎี หลักการและเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดประสบการณ์การเล่านิทานเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือ
3. ดำเนินการเลือกนิทานที่มีอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดโดยใช้หลักเกณฑ์การเลือกคือ เนื้อหาของนิทานให้ความสนุกสนานเหมาะสมกับวัย
4. สร้างแผนการจัดประสบการณ์การเล่าเล่าไปวาดไปแบบร่วมมือจำนวน 10 เรื่อง
โดยกำหนดรูปแบบการจัดประสบการณ์ประกอบด้วย ชื่อนิทาน จุดประสงค์ ขั้นตอนในการดำเนินกิจกรรม
รายชื่อนิทาน
สัปดาห์ที่ 1 ชื่อนิทาน พลายหนุ่ยลุยกรุง สื่อ/ อุปกรณ์ วาดภาพด้วยสีเทียน
สัปดาห์ที่ 2 ชื่อนิทาน ความลับของต้นไม้ สื่อ/ อุปกรณ์ วาดภาพด้วยสีไม้
สัปดาห์ที่ 3 ชื่อนิทาน ของขวัญวันแม่สื่อ/ อุปกรณ์ ละเลงสีน้ำด้วยนิ้วมือ
สัปดาห์ที่ 4 ชื่อนิทาน ฉันชอบปลูกต้นไม้สื่อ/ อุปกรณ์ วาดภาพด้วยสีชอล์ค
สัปดาห์ที่ 5 ชื่อนิทาน กุ๋งกิ๋งท้องผูกสื่อ/ อุปกรณ์ วาดภาพโดยใช้พู่กันฟองน้ำ
สัปดาห์ที่ 6 ชื่อนิทาน ผลไม้สื่อ/ อุปกรณ์ วาดภาพด้วยสีเทียน
สัปดาห์ที่ 7 ชื่อนิทาน ดอกไม้บานบนดวงจันทร์สื่อ/ อุปกรณ์ วาดภาพด้วยสีชอล์ค
สัปดาห์ที่ 8 ชื่อนิทาน บ้านของฉันมีเงาประหลาดสื่อ/ อุปกรณ์ วาดภาพด้วยสีไม้
สัปดาห์ที่ 9 ชื่อนิทาน ตลาดน้ำ อ้ำอร่อยจังสื่อ/ อุปกรณ์ วาดภาพโดยใช้พู่กันฟองน้ำ
สัปดาห์ที่ 10 ชื่อนิทาน ขลุ่ยไม้ของกระต่ายน้อยสื่อ/ อุปกรณ์ ละเลงสีน้ำด้วยนิ้วมือ

3. การสร้างและการหาคุณภาพของเครื่องมือ
1. ศึกษาแนวคิดทฤษฎี และหลักการต่าง ๆ จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย
2. ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในการสร้างแบบสังเกตความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยด้านการกล้าแสดงออกเป็นตัวของตัวเอง ด้านการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และด้านความภาคภูมิใจในตนเอง โดยศึกษาจากแบบสังเกตความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยของ พจมาน เทียนมนัส (2539) วารุณี เจริญรันตนโชติ (2543) เมทินี ด่านยังอยู่ (2544) อุลัย บุญโท (2544) และจิราพร ปั้นทอง (2550)
3. สร้างแบบสังเกตความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย ให้ครอบคลุมถึงการมีความเชื่อมั่นในตนเอง ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ การกล้าแสดงออกเป็นตัวของตัวเอง ด้านการปรับตัวเข้าสภาพแวดล้อม และด้านความภาคภูมิใจ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
4. นำแบบสังเกตความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเที่ยงตรงตามเนื้อหา และความเหมาะสมของแบบสังเกต จำนวน 3 ท่าน
5. นำมาปรับปรุงตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่สอดคล้องกันอย่างน้อย 2 ใน 3 ท่าน เพื่อแสดงหลักฐานความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา

4. แบบแผนการทดลองและวิธีดำเนินการทดลอง
ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองโดยใช้แผนการทดลองแบบ One – Group Pretest – Posttest Design (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 249) ตามตาราง 1 ดังนี้
การดำเนินการทดลองมีขั้นตอนดังนี้
การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ทำการทดลองเป็นเวลา 10 สัปดาห์ โดยทดลองสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 1 ครั้งๆ ละ 30 นาที ช่วงระหว่างเวลา
09.00 – 09.30 น. รวมทั้งสิ้น 30 ครั้ง โดยใน 1 วัน มีการจัดกิจกรรม 1 กิจกรรม โดยในแต่ละครั้งมีขั้นตอน
การดำเนินกิจกรรมดังนี้
1. ครูแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มกลุ่มละ 4 – 5 คน
2. ครูอธิบายกิจกรรมและอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเล่านิทานวาดไปเล่าไปแบบร่วมมือโดยอุปกรณ์มีการปรับเปลี่ยน เช่น สีน้ำ สีเทียน สีชอล์ก สีไม้ เป็นต้น
3. ดำเนินการทดลองโดยครูเป็นผู้เล่านิทานแล้วให้เด็กวาดภาพโดยแบ่งเนื้อหาของนิทานแต่ละเรื่องออกเป็น 3 ตอน ในแต่ละตอนเด็กร่วมกันวางแผน แสดงความคิดเห็นและร่วมมือกันวาด หลังจากที่ฟังนิทานที่ครูเล่าให้ฟังจบ
4. ให้เด็กนำผลงานที่วาดเสร็จมาหมุนเวียนกันเล่า
5. ครูจดบันทึกพฤติกรรมขณะทำกิจกรรมรายบุคคลและเก็บผลงาน
5. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์
ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการทดลองไปวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ ดังนี้
1. สถิติพื้นฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
1.1 หาค่าเฉลี่ย (Mean) โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 73)
1.2 หาค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 79)
2. การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ
2.1 สถิติที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา (Content Validity) โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 250)
3. สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน
3.1 เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนก่อนทดลองและหลังการทดลอง โดยใช้ t – test แบบ Dependent Samples โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 104)

4 comments:

เสาวลักษณ์ said...

สนใจ อยากได้บรรณานุกรมเพื่อค้นงานต่อ

noo said...

บรรณานุกรม

Unknown said...

ขอต่อเลยได้ไหมคะ พอดีต้องการนำมาศึกษาคะ ขอบคุณคะ

Unknown said...

อยากได้บรรณานุกรรมค่ะ